พ.ร.บ. กับ ภาษีรถยนต์ ต่างกันยังไง
เชื่อว่ามีหลายคนต้องเคยสับสนว่าพ.ร.บ. กับภาษีรถยนต์ คือใบเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงทั้งสองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน วันนี้เราจะพาไปดูว่า พ.ร.บ. กับภาษีรถยนต์ แตกต่างกันยังไง ไปดูกันเลย!!
พ.ร.บ. คืออะไร
พ.ร.บ. คือ การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ ซึ่งกฏหมายบังคับให้รถทุกคันต้องทำประกัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 การทำ พ.ร.บ. มีจุดประสงค์เพื่อคุ้มครองการเกิดอุบัติเหตุให้กับบุคคลที่ใช้รถได้ในทันที โดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงว่าฝ่ายใดถูกหรือฝ่ายใดผิด ซึ่งกฎหมายจะคุ้มครองทั้งคู่กรณีและผู้เอาประกันเมื่อเกิดอุบัติเหตุในรูปแบบเงินชดเชยและค่ารักษาพยาบาล แต่จะไม่ได้คุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ หากไม่ทำ พ.ร.บ. จะถือว่ามีความผิดและมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ภาษี คืออะไร
ภาษี หรือ ภาษีรถยนต์ คือ ค่าใช้จ่ายที่เจ้าของรถทุกคนต้องดำเนินการชำระทุกปี เพื่อนำเงินไปดูแลรักษาระบบคมนาคมและภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการที่จะจ่ายภาษี ต้องต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ ให้เรียบร้อยก่อนและนำเอกสาร พ.ร.บ. รถยนต์ ไปต่อภาษีกับกรมขนส่งทางบก แล้วนำป้ายภาษีมาติดที่กระจกหน้ารถให้เห็นชัดเจนเพื่อแสดงให้รู้ว่า รถคันนี้ชำระภาษีแล้ว หากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าคุณไม่มีป้ายภาษีจะมีโทษปรับ 400-1,000 บาท
ในกรณีที่ขาดต่อภาษีเกิน 3 ปี ถูกระงับทะเบียนรถทันที และจะต้องจดทะเบียนเล่มใหม่ ซึ่งจะถูกเรียกเก็บค่าภาษีย้อนหลังด้วยนะ การต่อภาษีสามารถต่อภาษีล่วงหน้าได้ 3 เดือนก่อนวันสิ้นอายุ
นอกจากต้องต่อ พ.ร.บ. และภาษีรถยนต์แล้ว ที่สำคัญเลยอย่าลืมทำประกันรถยนต์ให้กับรถคู่ใจของคุณ เพื่อให้รถยนต์ของคุณได้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมและปลอดภัยรอบด้าน
ข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.), กรมการขนส่งทางบก